สรุปสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

สรุปสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ล่าสุด เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ภายใต้หลักการและเหตุผลที่ต้องการลดขั้นตอนของข้อกฎหมายในบางมาตราที่ไม่เหมาะสมกันกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน เพื่อให้การดำเนินธุรกิจของทั้งหุ้นส่วนและบริษัท มีความคล่องตัวมากขึ้น และสอดคล้องต่อการนำเทคโนโลยีในปัจจุบันมาใช้ในการปฏิบัติงาน และดำเนินธุรกิจได้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ เป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในการประกอบธุรกิจในประเทศไทยที่มีความสะดวกรวดเร็ว และง่ายขึ้น ซึ่งจะไปสอดคล้องกับตัวชี้วัดของธนาคารโลก (Word Bank) และเป็นผลดีต่อการประเมินความยากง่ายในการประกอบธุรกิจในประเทศไทย ทำให้มีการพัฒนา และยกระดับความสามารถในการแข่งขันขององค์กรธุรกิจให้ทัดเทียมนานาประเทศ

ลำดับ

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

หมายเหตุ

1.

กำหนดให้การยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนและบริษัท สามารถยื่น ณ สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท แห่งใดก็ได้ ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

จะตรงกันกับมาตรา 1016 ที่ได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 21/2560 ลงวันที่ 4 เมษายน 2560 อยู่แล้ว

2.

กำหนดให้รัฐมนตรีมีอำนาจลด หรือยกเว้นค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียน การขอตรวจเอกสาร การขอสำเนาเอกสารพร้อมคำรับรอง และค่าธรรมเนียมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับห้างหุ้นส่วนและบริษัท

จะตรงกันกับมาตรา 1020/1 ที่ได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 21/2560 ลงวันที่ 4 เมษายน 2560 อยู่แล้ว

3.

กำหนดให้หนังสือบริคณห์สนธิ ที่จดทะเบียนไว้สิ้นผลลง หากมิได้ดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทภายในสามปี

ส่งผลดีต่อผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นที่ประสงค์จะใช้ชื่อบริษัทที่ซ้ำกับชื่อบริษัท จดทะเบียนของหนังสือบริคณห์สนธิที่สิ้นผลนี้ ต่อไปนี้สามารถนำไปใช้ได้

4.

กำหนดให้มีการประทับตราบริษัทในใบหุ้นทุกใบ เฉพาะในกรณีที่บริษัทมีตราประทับ

เพื่อเพิ่มความชัดเจนของมาตรา 1128 เดิม ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 21/2560 ที่ระบุเพียงว่า “ในใบหุ้นทุกๆ ใบ ให้กรรมการอย่างน้อยหนึ่งคนลงลายมือชื่อเป็นสำคัญ

5.

กำหนดให้การประชุมคณะกรรมการสามารถดำเนินการได้ด้วยเทคโนโลยีอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งทำให้กรรมการไม่จำเป็นต้องปรากฎตัวในที่ประชุมก็ได้ เว้นแต่ข้อบังคับของบริษัทจะกำหนดห้ามไว้ ทั้งนี้การจัดประชุมดังกล่าวต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฏกระทรวง และให้ถือว่ากรรมการ ซึ่งใช้การติดต่อสื่อสารนั้น ได้เข้าร่วมประชุมกรรมการ และให้นับเป็นองค์ประชุม และมีสิทธิออกเสียงในที่ประชุมด้วย

เพื่อสนับสนุนให้การประชุมคณะกรรมการสามารถดำเนินได้ในรูปแบบการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ตามกฎกระทรวงที่จะออกและมีผลใช้บังคับ ซึ่งคาดว่าน่าจะสอดคล้องกับมาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ที่ออกโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2563 ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2563

6.

กำหนดให้การส่งคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น ให้ส่งทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังผู้ถือหุ้นทุกคนที่มีชื่อในทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทเท่านั้น ถือว่าเป็นการส่งคำบอกกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมาย เว้นแต่ในกรณีที่บริษัทมีหุ้นชนิดที่ออกให้แก่ผู้ถือ ให้ส่งด้วยวิธีการโฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่เพิ่มเติมด้วย

เดิมมาตรา 1175 กำหนดให้ส่งทั้งทางไปรษณีย์ตอบรับ และลงประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์

7.

กำหนดบทเฉพาะกาลรองรับกรณีที่มีการจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และเมื่อนับระยะเวลาตั้งแต่วันที่มีการจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ จนถึงวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับแล้วมีระยะเวลาเกิน 3 ปี แต่ปรากฏว่ายังมิได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ให้สามารถดำเนินการจดทะเบียนบริษัทได้ภายใน 180 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ

 

ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จะถูกเสนอต่อรัฐสภา เพื่อออกเป็นกฎหมายต่อไป หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อสำนักงานที่หมายเลข 02-679-6005